ในปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลกเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายติดตาม เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
ดังนั้น การดูแลอัตราเงินเฟ้อจึงมีความสำคัญ และเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
การดำเนินนโยบายการเงินผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ที่ต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป พร้อมกับเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และระบบการเงินมีเสถียรภาพ
ปัจจุบัน กนง. ได้กำหนดที่จะดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในระยะปานกลางให้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1-3% อย่างไรก็ดี ล่าสุดข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 6.08% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายไม่น้อย
จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุใดอัตราเงินเฟ้อไทยในปีที่ผ่านมาจึงอยู่ในระดับสูง? และสูงเกินกรอบเป้าหมายที่กำหนดจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลหรือไม่? และจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร?
๐ เงินเฟ้อสูงเพราะอะไรและมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?
อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในปี 2565 มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นช่วงต้นปี 2565 มาจากการเกิดโรคระบาดในสุกรของไทย
ที่ทำให้ราคาเนื้อหมูปรับเพิ่มขึ้นถึง 27% ในเดือน ม.ค. 2565 และส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์อื่น ๆ รวมถึงราคาอาหารสำเร็จรูปปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้านปัจจัยต่างประเทศ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าในไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565
ในขณะเดียวกัน ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นก็ยังส่งผลทางอ้อมต่อราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ผ่านการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน